ช่องว่างระหว่างวัยคือสาเหตุหนึ่งของความเครียด ความกดดัน ที่มีต่อผู้ใหญ่ในยุคปัจจุบัน หรือไม่?
ในสภาพสังคม ณ ปัจจุบัน ผู้ที่เป็นพ่อแม่ย่อมทุ่มเท และฝากความหวังในตัวต่อผู้เป็นลูก มักจะชี้นำ เลือก และกำหนดวิถีชีวิตให้ไม่ทางตรง ก็ทางอ้อม มากกว่าที่จะให้ลูกนั้นเป็นผู้กำหนดเลือกเอง เช่น แม่อาจจะอยากให้ลูกโตขึ้นเป็นแพทย์ หรือ วิศวกร ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยถามลูกอย่างจริงๆจังๆว่า ลูกนั้นอยากจะเป็นแพทย์ วิศวกร หรืออะไร ตามที่เขาต้องการจากใจจริง และต่างก็หวังว่าลูกจะต้องทำได้อย่างที่ตนหวัง มีลูกๆหลายคนที่รู้สึกว่าตนเองนั้น ถูกผู้ใหญ่ยัดเยียด ตนเองไม่มีอิสระ และโอกาสที่จะได้เลือกวิถีชีวิตของตนด้วยตนเอง สาเหตุจากที่กล่าวมาข้างต้น อาจเกิดเป็นปัญหาสังคมของวัยรุ่นในปัจจุบัน นับเป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดจากช่องว่างระหว่างวัย ที่ผู้ใหญ่คิดไปทางหนึ่ง เด็กก็คิดไปทางหนึ่ง เด็กจึงอาจแสดงออกในทางที่ตนเองคิดไปว่า ถูกต้อง เพื่อให้ผู้อื่นยอมรับ แต่กลับกลายเป็นปัญหาสังคมไป บางครั้งเราผู้เป็นผู้ใหญ่น่าจะลองคิดกลับมาดูว่า เรานั้นคือผู้ที่ยัดเยียดความคาดหวัง ความต้องการของเราเองไปที่เด็ก โดยไม่ได้ตั้งใจหรือเปล่า? และความคาดหวังเหล่านั้น แท้จริงอาจเป็นความรู้สึกที่ต้องการความมั่นคงของผู้ใหญ่เมื่ออายุมากขึ้นเอง ความหวังที่ผู้ใหญ่จะมั่นคง ได้พึ่งพายามแก่ชรา หรือเพื่อสนองความต้องการส่วนลึกของผู้ใหญ่เองหรือเปล่า?
สภาพการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน อาจจะไม่ง่ายที่ทำให้ทุกอย่างนั้นเป็นไปได้ดังใจนึก ความขัดแย้งต่างๆ ความรู้สึกไม่มั่นคง หรือความหวาดระแวง วิตกจริต จึงเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ที่ตามไม่ทัน ไม่ค่อยเปิดกว้างกับข่าวสาร หรือยอมรับสภาพความจริงกับสังคมในยุคใหม่เช่นปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ในปัจจุบันนี้ ผู้ใหญ่และผู้ปกครอง ควรจะหันมาอบรม ปกครองและดูแลนำทางลูกไปในวิธีที่แตกต่างออกไป คือ จะต้องเป็นทั้ง พ่อ แม่ เพื่อน ที่เข้าใจ ใกล้ชิด สามารถให้ลูกสบายใจที่จะเปิดเผยและคุยปรึกษาได้ทุกเรื่อง น่าจะดีกว่ามากที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่คอยเฝ้า จับตาดู ตัดสิน ลงโทษ ดุด่าว่ากล่าว
ทำไมผู้สูงอายุที่เกินวัยเกษียณอายุแล้ว ยังคงรู้สึก กดดัน เครียด ทั้งๆที่ได้ถึงเวลาที่ควรจะพักไม่ต้องดิ้นรนต่อสู้ แข่งขันกับสังคมแล้ว?
พอคนเราเข้าอายุวัยเกษียณ ส่วนใหญ่จะไม่มีสังคมที่เป็นรูปแบบดังเดิม จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความกดดัน และเครียดมาก เนื่องจาก หลังจากเกษียณก็ไม่ค่อยจะมีผู้คนให้ความสำคัญ หรือนับหน้าถือตาดังในอดีต ซึ่งความเครียดในลักษณะนี้ จะทำให้คนสูงอายุเหล่านั้น มีความรู้สึกที่รุนแรง และบั่นทอนมากกว่า ความเครียดที่มาจากการงานหรือครอบครัวเสียอีก เนื่องจากมันทำร้ายความเชื่อมั่นที่มีในตัวเอง สูญเสียความภาคภูมิใจ ความเชื่อถือ เชื่อมั่นในตัวเองโดยสิ้นเชิง ราวกับว่า หมดหวังกับความเป็นตัวตนรวมถึง ทำลายบุคลิกภาพที่เคยสง่าผ่าเผยเต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่นในอดีต
|